ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ได้ร่วมกับ กสทช.นำภาคเอกชนทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ 5G ได้แก่ หัวเว่ย อีริคสัน โนเกีย เยี่ยมชมพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เพื่อทดสอบ 5G

โดยผู้ผลิตอุปกรณ์ทุกรายได้คัดเลือกจุดที่จะนำอุปกรณ์ของตัวเองเข้ามาติดตั้งสำหรับการทดสอบการใช้งาน 5G (Use Cases) อาทิ Tele Medicine, Smart Manufacturing, Smart Bus ตลอดจน Autonomous Vehicle เป็นต้น

ทั้งนี้ จะทยอยตั้งแต่ ม.ค. 2562 และเพื่อให้เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน ในรูปแบบ 5G Integration อย่างสมบูรณ์แบบ จึงนำผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายหลักของไทย ได้แก่ เอไอเอส, ดีแทค, ทรู, ทีโอที และ แคท พร้อมกับ อินเทล ผู้ผลิตชิปเซ็ต และ ZTE อีกหนึ่งผู้ผลิตอุปกรณ์ 5G รายสำคัญ ลงพื้นที่ทดสอบ 5G ด้วย

5G จะมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลดีกว่า 4G ถึง 20 เท่า สามารถรองรับอุปกรณ์สื่อสารได้ถึง 1 ล้านอุปกรณ์ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เมืองอัจฉริยะ และการใช้ชีวิตยุคใหม่ ช่วยสร้างนวัตกรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

5G เปลี่ยนพฤติกรรมคนใช้งาน

ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ความคุ้นเคยในอดีตที่ผ่านมา ในด้านการสื่อสารโทรคมนาคมตั้งแต่ 1G-4G ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง

“คนไทยกำลังจะพบกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยรวดเร็ว เพราะ 5G มีความแตกต่างจาก 4G มาก สามารถเปรียบเทียบกับการที่เรายังไม่เคยมีเครื่องบินมาก่อน เพียงข้ามคืนทุกคนสามารถขึ้นเครื่องบินเดินทางไปต่างประเทศได้ทันที”

อย่างไรก็ตาม คนไทยกำลังก้าวเข้าสู่ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ที่มาจากความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่กำลังจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ เกิดจากการเชื่อมโยงกันระหว่างเทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้ง, Big Data Analytics และ AI โดยมี 5G เป็นตัวเชื่อมและประสานสอดคล้องเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านั้น

ทั้งนี้ 5G จะเข้ามาเป็นผู้เปลี่ยนเกมทั้งในชีวิตประจำวัน, ภาคธุรกิจ, อุตสาหกรรม และสังคม วงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถือว่า 5G เป็นเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ถึงขั้นเปรียบเทียบว่า เหมือนการนำเอามนุษย์ไปลงดวงจันทร์

โดยเมื่อต้นปี 2561 ในงาน Winter Olympics ที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้โชว์การแพร่ภาพความละเอียดสูงด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริงโดยบริษัท KT Corporation และ Intel ที่ใช้การสตรีมมิ่งด้วย 5G จากกล้องที่ติดตั้งรอบสนามแข่ง ผู้ชมเลือกชมตามมุมต่างๆ ที่ต้องการ เป็นการแสดงถึงศักยภาพของบริษัทไมโครชิพเพื่อต้องการที่จะยึดหัวหาดความเป็นผู้นำด้าน 5G

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมกำลังแข่งขันรุนแรง เช่น ZTE และ หัวเว่ย, โนเกีย และ อีริคสัน พยายามทุกวิถีทางที่จะครอบครองตลาด 5G

ทั้งนี้ 5G จะทำให้การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมเกิดเร็วขึ้น เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่แปลกใหม่ การทำธุรกิจจะก้าวหน้าและชาญฉลาดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำงานโดยไม่ต้องยึดติดกับสถานที่และเวลา เกิดการให้บริการด้วยการควบคุมระยะไกลมากมายหลายรูปแบบ

เป็นที่ชัดเจนว่า อีกไม่กี่ปีนับจากนี้ เราจะได้ใช้บริการที่แปลกใหม่จากบริษัทใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุค 5G ทั้ง ร้านค้าออนไลน์, องค์กรดิจิทัล, และแอพพลิเคชั่น ที่เกิดจากความร่วมมือกันเองของผู้ใช้ที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เช่น แพลตฟอร์มการแชร์รถยนต์กัน, แพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับสถานที่พักที่ผู้คนทั้งหลายเป็นเจ้าของเองและให้เช่ากันเอง เป็นต้น

“จากการที่ 5G สามารถเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ ผู้คนและยานยนต์เข้าด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้รถยนต์ในวันนี้ที่ขับเคลื่อนด้วยมนุษย์ จะกลายเป็นรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองในอนาคต”

นอกจากนี้ การรักษาผู้ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล เพราะแพทย์สามารถ รักษาคนไข้ในระยะไกล (Telemedicine) สามารถผ่าตัดทางไกลด้วยการควบคุมอุปกรณ์หุ่นยนต์และเครื่องมือผ่าตัดได้อย่างเรียลไทม์

ถ้าหากในอนาคตภายใน 15-20 มีอากาศยานขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Drone) และยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองดกิดขึ้นจริงทั่วไป จะสามารถส่งภาพสามมิติอย่างเรียลไทม์ไปให้ใครดูที่ใดและเวลาใดก็ได้

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุค 5G ไม่เหมือนการเปลี่ยนแปลงในยุค 1G-4G เพราะ 5G จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีอื่นๆ ให้ประสานการทำงานร่วมกัน เช่น IoT และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

เมื่อหลอมรวมกัน จะทำให้เกิดขีดความสามารถในการคำนวณและการสื่อสารที่ชาญฉลาดจนไปเปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรมต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิง

5G เกิด ภาครัฐต้องแก้โจทย์คนตกงาน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า 5G มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ทำให้เกิดการใช้ IoT หรือ AI คนจะตกงาน 10-30% ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเพิ่มองค์ความรู้ให้คนกลุ่มนี้ด้วย

เมื่อ 5G เข้ามาในไทยจะกระทบภาคการผลิตในไทย 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ภาคการผลิต ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหมดใช้แรงงานถึง 30 – 40% ที่ใช้ภาคการผลิต 2. ภาคการเงินการธนาคาร โดยธนาคารจะต้องปิดตัวลงเรื่อยๆ และ 3. ภาคการแพทย์ สาธารณสุข ที่จะต้องปิดตัวลง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวด้วย

“สิ่งที่จะผลักดันให้เกิด 5G คือรัฐบาล ไม่ใช่โอเปอร์เรเตอร์ เพราะโอเปอร์เรเตอร์ต้องใช้เงินลงทุนสูง รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วย เกิดการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างอาชีพ 5G จะมาหนุนภาคอุตสาหกรรม เกิดการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในภาครวมประเทศ”

5G ดันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ดร.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ แคท (CAT) กล่าวว่า 5G จะเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศ แคท มีดาวเทียม จึงต้องพัฒนาให้มีศักยภาพที่จะรองรับ 5G รองรับ Bandwidth ขนาดใหญ่

เมื่อ 5G เข้ามา จะพลิกโฉมการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งสมาร์ท ซิตี้ ที่มีการใช้อุปกรณ์ IoT จำนวนมหาศาล และจะเน้นการใช้งานในลักษณะเคลื่อนที่ รวมถึงการใช้งานที่หลากหลาย มีความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล, การควบคุมเครื่องจักรในโรงงานหรือการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

5G กับเศรษฐกิจของประเทศไทย

ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า 5G ได้ถูกวางไว้ในตำแหน่งที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับการยกระดับภาคธุรกิจให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล

ซึ่งมีผลวิจัยคาดการณ์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 10 ภาคส่วนที่สำคัญ โดยปีพ.ศ.2569 ที่ภาคอุตสาหกรรมใช้ 5G ในการผลิตและทำธุรกิจ ทำให้เกิดรายได้กว่า 1.7แสนล้านบาท ซึ่ง 8 หมื่นล้านบาท มาจากการให้บริการใน 3 รูปแบบ

อุตสาหกรรมการผลิต ภาคพลังงานสาธารณูปโภค และการรักษาความปลอดภัย จะเป็น 3 กลุ่มแรกเมื่อมีการนำเอา 5G มาใช้

โดยปัจจุบันผู้เล่นที่สำคัญของการให้บริการแพลตฟอร์มนี้ก็คือ Amazon ภายใต้ชื่อการให้บริการว่า AWS Amazon Web Service อีกรายก็จะเป็น Microsoft ที่ให้บริการภายใต้ชื่อ Azure ถึงแม้ว่าแพลตฟอร์มของทั้ง 2 ราย จะยังไม่รองรับ 5G แต่ก็เริ่มให้บริการกับเทคโนโลยี IoT ได้แล้ว

คาดว่าจะมีเงินรายได้ในส่วนนี้ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน 300 ล้านเหรียญสหรัฐในปีพ.ศ.2569 จากขนาดตลาดของประเทศไทยที่ 1800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบทบาทนี้เป็นบทบาทใหม่สำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน ถือว่ามีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยในฐานะที่จะเป็นผู้ประกอบการในบทบาท Service Creator

นอกจากนี้ 5G จะทำให้เกิดแอพพลิเคชั่นที่จะตอบสนองกลุ่มธุรกิจ จะมีการนำ 5G มาใช้ในโรงงานเพื่อยกระดับไปสู่ Industry 4.0 จะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการมากถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคจะสร้างรายได้ถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ

การนำ 5G มาใช้ในโรงงานการผลิต จะมีการเปลี่ยนแปลงจากการตั้งโรงงานการผลิตขนาดใหญ่ผลิตของจำนวนมากเพื่อให้ต้นทุนต่อชิ้นมีราคาถูก การสร้างและประกอบสินค้าจะใช้แรงงานที่มีทักษะต่ำเพื่อให้ต้นทุนค่าแรงน้อย ต้นทุนจะมาจากการเก็บสินค้าและการขนส่งเคลื่อนย้ายไปยังตลาดที่ใกล้กับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มธุรกิจโรงงานการผลิตที่จะต้องมีการลงทุนกับเครื่องจักรใหม่ จะมีแนวโน้มลงทุนในเรื่องแขนกล/หุ่นยนต์ (Robotics) เพื่อใช้ทดแทนเครื่องจักรกลการผลิตแบบเดิม และนำมาทดแทนแรงงานที่อาจมีการปรับขึ้นตลอดเวลาเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ซึ่งต้นทุนเกิดจากการตั้งโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่นับวันเขตเมืองจะขยายพื้นที่ออกมาทำให้ต้นทุนในการเก็บรักษาผลผลิตเพื่อรอการนำส่งที่ต้องอาศัยพื้นที่จำนวนมากมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ราคาเชื้อเพลิงค่าขนส่งเริ่มมีราคาสูง ทำให้เกิดความต้องการโมเดลธุรกิจใหม่ที่เป็น Distributed Manufacturing ที่นำเอาแขนกล/หุ่นยนต์ ไปวางไว้ใกล้กับตลาดของผู้บริโภคเพื่อประหยัดต้นทุนการจัดเก็บ

ทั้งนี้ การใช้แขนกล/หุ่นยนต์ จะต้องเชื่อมอยู่บนโครงข่าย 5G สามารถรับคำสั่ง ตรวจสอบ ผลิตจากศูนย์ควบคุมส่วนกลางได้ การนำ Cloud Robotics มาใช้ในธุรกิจ

นอกจากนี้ 5G สามารถนำมาใช้ในการติดตามสินค้าที่ผลิตและส่งไปยังผู้บริโภคได้ตั้งแต่แท่นการผลิตจนถึงมือผู้ซื้อได้การรับประกันคุณภาพและการให้บริการหลังการขายจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ดูเหมือนว่าเทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคประชาชน แต่ท้ายสุดแล้ว อยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า ว่าจะเลือกใช้เทคโนโลยีใดในการดำรงชีวิต

5G กับความจำเป็นของคนไทย